ค้นหาบล็อกนี้

แก้รธน.รายมาตรา : บทบรรณาธิการ

แก้รธน.รายมาตรา : บทบรรณาธิการ
ชัดเจนแล้วว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปัญหาที่แจ้งเกิดช่วงรัฐประหาร ต้องแก้ไขกันเป็นรายมาตรา

หลังจากข้อเรียกร้องและความพยายามจากพรรคการเมืองฝ่ายค้านให้แก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับถูกปิดฉากไปแล้ว จากการที่สมาชิกรัฐสภาเสียงส่วนใหญ่ที่มีส.ว.รวมอยู่ด้วย ลงมติคว่ำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256

จากผลของการโหวตคว่ำการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับดังกล่าว ส่งสัญญาณด้วยว่าการแก้ไขรายมาตราไม่ง่าย และจะไม่มีทางสำเร็จหากพรรคฝ่ายรัฐบาลและส.ว.ร่วมใจไม่เห็นด้วยหรือเพิกเฉย

อย่างไรก็ตาม กระบวนการยากลำบากต่อไปนี้จะเป็นตัวพิสูจน์ความมุ่งมั่นของสมาชิกสภาผู้แทนฯ รวมถึง กลุ่มการเมือง ว่าจะดึงประชาชนเข้าสู่กระบวนการมีส่วนร่วมทางประชาธิป ไตยได้มากน้อยเพียงใด

บรรดานักประชาธิปไตยทั่วโลกให้คำแนะนำและบทเรียนมาเสมอว่า ประชาธิปไตยไม่ใช่ระบอบที่ได้มาโดยง่าย และไม่มีความสมบูรณ์แบบ
ฉะนั้น การรัฐประหารด้วยข้ออ้างว่าต้องการรักษาและปกป้องประชาธิปไตยจึงเป็นเรื่องโกหก ไม่สมเหตุสมผล และเป็นไปไม่ได้

พิสูจน์ให้เห็นแล้วในทุกเหตุการณ์ทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย และล่าสุดประเทศเมียนมา

การได้มาซึ่งประชาธิปไตยและการดำรงประชาธิปไตยไว้ ล้วนต้องมีพัฒนาการ มีการขับเคลื่อน การสร้างความร่วมมือและมีส่วนร่วม

การเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราของพรรคแกนนำรัฐบาล แม้ถูกมองจากประชาชนส่วนหนึ่งอย่างไม่ค่อยไว้ใจว่าทำพอเป็นพิธี เนื่องจากไม่แตะต้องการมีอยู่ของส.ว. ซึ่งมาจากการแต่งตั้งโดยหัวหน้าคณะรัฐประหาร

แต่อย่างน้อยก็มีจุดเชื่อมต่อกับประชาชนอยู่บ้างตรงที่ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญตามที่หาเสียงไว้

ส่วนพรรคฝ่ายค้านและกลุ่มการเมืองฝ่ายเสรีนิยมที่ต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างตรงจุด คือยกเลิกส.ว.ชุดปัจจุบัน ต้องเดินหน้ารณรงค์ให้เกิดกระแสความต้องการของประชาชนอย่างชัดเจน

ถ้าเสียงของประชาชนที่ผ่านมายังดังไม่พอ ก็ต้องทำให้ดังขึ้น กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราจึงยังเป็นความหวังที่ละทิ้งหรือท้อถอยไม่ได้

แสดงความคิดเห็น

0 ความคิดเห็น