“กาแฟ” มักเป็นเครื่องดื่มที่หลายคนเลือกดื่มเพื่อมอบความสดชื่นกระปรี้กระเปร่า แก้ง่วงนอนในตอนเช้า เพื่อรับกับการทำงานในวันใหม่ แต่มีการแชร์ข้อมูลกันในอินเตอร์เน็ต เราไม่ควรดื่มกาแฟในตอนเช้า จริงหรือไม่?
แม้ว่าการดื่มกาแฟจะให้ประโยชน์ต่อร่างกายอยู่บ้าง จากผลงานวิจัยพบว่า การดื่มกาแฟช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็งบางประเภท โรคหัวใจ เบาหวานประเภท 2 และโรคพาร์กินสัน
แต่การดื่มกาแฟเพื่อให้ได้ประโยชน์เต็มที่ ต้องดื่มอย่างถูกวิธีด้วย เพราะหากดื่มไม่ถูกวิธี นอกจากจะไม่ได้ประโยชน์จากกาแฟแล้ว ยังอาจส่งผลเสียต่อร่างกายแทนได้
อย่าดื่มกาแฟตอนเช้า จริงหรือ?
บางคนอาจเคยได้ยินว่า ห้ามดื่มกาแฟตอนเช้า เพราะฮอร์โมนคอร์ติซอลถูกผลิตออกมามากตอนเช้า ช่วยให้เรารับมือความเครียด ถ้ากินกาแฟเข้าไป จะไปยับยั้งการผลิตคอร์ติซอล ทำให้เครียดง่ายขึ้น
แต่อันที่จริงแล้ว อาจารย์เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายว่า ฮอร์โมนคอร์ติซอล เป็นฮอร์โมนที่หลั่งออกมาเมื่อร่างกายของเรารับรู้ถึงความเครียด ถ้ามีปริมาณมาก มันจะยับยั้งการทำงานของสมอง ทำให้เมตาบอลิซึ่มในร่างกายนั้นช้าลง ทำให้กล้ามเนื้อสลายตัว และทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น บางคนจึงเรียกว่าเป็น “ฮอร์โมนความเครียด” ไม่ได้หมายความเป็นฮอร์โมนที่ช่วยให้ร่างกายรับมือกับความเครียดแต่อย่างใด ดังนั้นถ้าอยากให้ร่างกายผ่อนคลายจากความเครียดได้ไวๆ ต้องลดปริมาณฮอร์โมนคอร์ติซอลลง
ในกาแฟที่มีคาเฟอีน คาเฟอีนไม่ได้ยับยั้งการหลั่งคอร์ติซอล แต่จะไปกระตุ้นการหลั่งให้มากขึ้น ดังนั้น การดื่มกาแฟในช่วงที่ร่างกายมีฮอร์โมนคอร์ติซอลหลั่งออกมาสูงนั้น ก็จะยิ่งเพิ่มความเครียดให้กับร่างกายขึ้นไปอีก
ควรดื่มกาแฟช่วงเวลาไหน ถึงจะเหมาะสมที่สุด
ในส่วนของตอนเช้าหลังตื่นนอน หากเป็นคนตื่นเช้าตรู่ราว 6.30 น. ระดับฮอร์โมนคอร์ติซอลจะค่อยๆ สูงขึ้นเรื่อยๆ หลังตื่นนอน ไปจนถึงช่วง 8.00-9.00 น., 12.00-13.00 น. และ 17.30-18.30 น. ดังนั้นหากอยากดื่มกาแฟให้เหมาะสม ควรหลีกเลี่ยงช่วงเวลาดังกล่าว โดยสามารถเลือกดื่มกาแฟตอนเช้าตรู่ก่อน 8.00 น. ได้ และดื่มตอนสายๆ ก่อนเที่ยง และตอนบ่ายๆ ราว 14.00-15.00 น. ได้เช่นกัน แต่การดื่มกาแฟตอนบ่ายๆ ก็ควรระวัง และไม่แนะนำให้ดื่มกาแฟหลัง 16.00 น. เพราะฤทธิ์ของคาเฟอีนอยู่ได้นานถึง 12 ชั่วโมง จึงอาจตกค้างไปจนถึงตอนกลางคืนซึ่งทำให้นอนไม่หลับได้
ทำไมแต่ละคนดื่มกาแฟแล้วได้ผลลัพธ์ไม่เหมือนกัน?
แต่ละคนมีการตอบสนองต่อคาเฟอีนในกาแฟไม่เหมือนกัน บางคนดื่มกาแฟแก้วเดียวตาค้างไปจนถึงตอนกลางคืน บางคนกินไป 3 แก้วแล้วยังไม่รู้สึกอะไร ดังนั้นแต่ละคนค่อยๆ เรียนรู้ร่างกายของตัวเองไปด้วยการค่อยๆ ลองดื่มทีละน้อย ค่อยๆ เพิ่มปริมาณและความเข้มข้น จนกว่าจะได้สูตรและปริมาณที่คิดว่าร่างกายของตัวเองรับได้ แต่หากร่างกายมีประสาทสัมผัสไวต่อคาเฟอีนมากเกินไป แต่อยากดื่มเครื่องดื่มที่ทำให้กระปรี้กระเปร่า อาจลองเป็นเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนน้อยกว่ากาแฟเล็กน้อยอย่าง ชา โกโก้ เป็นต้น
6 เคล็ดลับดื่มกาแฟอย่างไรโดยไม่เสียสุขภาพ
ไม่ควรดื่ม “กาแฟ” เกินวันละกี่แก้ว?
ดื่ม "กาแฟ" เท่าไรก็ไม่หายง่วง? อาจเสี่ยง "ภาวะดื้อคาเฟอีน"
ขอขอบคุณ
ข้อมูล :เฟซบุ๊กเพจ อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์,bulletproof.com,Inc
ภาพ :iStock
0 ความคิดเห็น