ค้นหาบล็อกนี้

รวมกลุ่มยกระดับสินค้าแปรรูป แปลงใหญ่ปลานิลท่าข้าม สร้างรายได้งาม

รวมกลุ่มยกระดับสินค้าแปรรูป แปลงใหญ่ปลานิลท่าข้าม สร้างรายได้งาม

วิสาหกิจชุมชนปลานิลแปลงใหญ่ ต.ท่าข้าม สุดเข้มแข็ง เกษตรกรจับมือรวมกลุ่มจัดตั้งเป็นกลุ่มส่งเสริมอาชีพ เลี้ยงปลาในกระชัง แปรรูปส่งขาย สร้างรายได้งาม

เมื่อวันที่ 17 มี.ค.64 นางสาวนุชจรี บุญมี ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนปลานิลแปลงใหญ่ ตำบลท่าข้าม กล่าวว่า ผู้เลี้ยงปลา ต.ท่าข้าม อ.พนัสนิคม ในปี 2560 มีสมาชิก 15 ราย จนกระทั่ง เดือนตุลาคม ปี 2560 กรมส่งเสริมการเกษตรเข้ามาสนับสนุนและส่งเสริมให้เกษตรกรเข้าร่วมโครงการระบบเกษตร แบบแปลงใหญ่ และได้จดทะเบียนเป็น “วิสาหกิจชุมชนปลานิลแปลงใหญ่ ต.ท่าข้าม อ.พนัสนิคม” โดยมีสมาชิกร่วมก่อตั้ง จำนวน 28 ราย ต่อมาได้รับงบประมาณสนับสนุน จากโครงการเสริมสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรรายย่อย จำนวน 300,000 บาท ในการจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ในการแปรรูป และได้มีหน่วยงานราชการร่วมบูรณาการให้การสนับสนับสนุนจนถึงปัจจุบัน
นอกจากนี้ ยังมีผู้สนใจที่มาศึกษาดูงานได้นำไปเป็นแบบอย่างแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการแก้ไข ปัญหาด้านการเกษตรต่างๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ในด้านการลดต้นทุนการผลิต การอนุรักษ์ดินและน้ำเพื่อการเกษตร และการสร้างรายได้ให้แก่สมาชิก จึงเกิดเป็นการจัดตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชนปลานิลแปลงใหญ่ ต.ท่าข้าม อ.พนัสนิคม เพื่อการผลิตอาหารอัดเม็ดลอยน้ำ แปรรูปปลานิลเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น จ๊อปลาเพื่อสุขภาพ ปลานิลแดดเดียว ปลายอพริกไทยดำ คั่วกลิ้งปลานิล คุณภาพ GAP ผลิตภัณฑ์ได้รับการรับรองมาตรฐาน อย. และผลิตภัณฑ์อื่นๆ อยู่ระหว่างดำเนินการขอการรับรอง เป็นการสร้างรายได้ โดยการส่งเสริมด้านการลดต้นทุนการผลิต และการส่งเสริมการทำการเกษตรที่ยั่งยืน ซึ่งถือเป็นกิจกรรมที่เด่นกิจกรรมหนึ่ง ภายใต้ศูนย์เรียนรู้การจัดการด้านประมงแบบครบวงจรของชุมชนนี้
นางสาวนงขวัญ ภู่พุ่ม เกษตรอำเภอพนัสนิคม จ.ชลบุรี กล่าวว่า วิสาหกิจชุมชนปลานิลแปลงใหญ่ ต.ท่าข้าม มีการประสานงานกับหน่วยงานในและนอกพื้นที่เป็นประจำ ทั้งหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อเป็นแนวทางการพัฒนากลุ่ม การบูรณาการเชื่อมโยง เครือข่ายการสนับสนุนของภาครัฐ หลายหน่วยงาน เช่น กรมส่งเสริมการเกษตร และกรมประมง ในการให้เกษตรกรมารวมกลุ่มเป็นแปลงใหญ่เพื่อการบริหารจัดการ เพื่อส่งเสริมการรวมกลุ่มเกษตรกรในการลดต้นทุน และเพิ่มผลผลิต ส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกรในชุมชนให้มีอาชีพและรายได้ที่มั่นคงและยั่งยืน ส่งเสริมความรู้ด้านการผลิตและการจัดการสินค้าเกษตรให้ปลอดภัยและได้มาตรฐาน เป็นการสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับชุมชน หากกรณีมีปัญหา หรือข้อหารือ กลุ่มจะประชุมเร่งด่วนเพื่อแก้ไข เช่น ปัญหาด้านผลผลิตตกต่ำ ผลผลิตขาดตลาด ภัยธรรมชาติ เป็นต้น โดยกลุ่มมีการจัดตั้งกองทุนอาหารปลาอัดเม็ด และจำหน่ายให้กับสมาชิกในราคาถูก ปัจจุบันมีกองทุน หมุนเวียนในการซื้ออาหารอัดเม็ดจำหน่ายให้กับสมาชิก จำนวน 100,000 บาท และยังมีการระดมหุ้นในการออมเงินและเป็นกองทุนกู้ยืมเงินให้กับสมาชิกในอัตราดอกเบี้ยต่ำสำหรับการประกอบอาชีพด้านการเกษตร

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : ไทยรัฐ

แสดงความคิดเห็น

0 ความคิดเห็น