ค้นหาบล็อกนี้

นายกฯ เผยความน่าเชื่อถือไทยอยู่ระดับมีเสถียรภาพ เร่งฉีดวัคซีนฟื้นเศรษฐกิจ

นายกรัฐมนตรี เผย อันดับความน่าเชื่อถือของไทย อยู่ในระดับมีเสถียรภาพ ย้ำ มีมาตรการบรรเทาฟื้นฟูต่อเนื่องทั้งปีนี้ เร่งฉีดวัคซีนเปิดประเทศฟื้นเศรษฐกิจ ขอคนไทยการ์ดอย่างเพิ่งตก

วันที่ 26 มี.ค. 2564 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พูดคุยประเด็นทิศทางเศรษฐกิจไทย ปี 2564 ผ่าน PM PODCAST โดยของยกมาบางส่วน ว่า นายกรัฐมนตรียินดีที่ประเทศไทยสามารถรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้เป็นอย่างดี โดยพี่น้องประชาชนร่วมมือปฏิบัติตามมาตรการต่างๆ ส่งผลให้ไทยประสบความสำเร็จในการบริหารจัดการทั้งด้านการความคุมการแพร่ระบาดและด้านเศรษฐกิจ ทำให้สถาบันจัดอันดับเครดิตของโลก ได้แก่ มูดี้ส์ ฟิทช์เรตติ้ง และสแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ส คงอันดับความน่าเชื่อถือของไทย ที่ BBB+ และคงมุมมองความน่าเชื่อถือของประเทศไทยอยู่ในระดับมีเสถียรภาพ รัฐบาลได้ดำเนินมาตรการทางเศรษฐกิจที่สอดคล้องกับสถานการณ์ทางสาธารณสุขทำให้พื้นฐานทางเศรษฐกิจของไทยทั้งการเงินและการคลังยังคงเข้มแข็ง โดยตั้งเป้าหมายการเติบโต GDP ของไทยในปี 2564 อยู่ที่ร้อยละ 4สำหรับมาตรการเยียวยาและฟื้นฟูต่างๆ ทั้งด้านเศรษฐกิจไทย การบริโภคและการท่องเที่ยว เช่น การเพิ่มเงินในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ คนละครึ่ง เราชนะ ม.33 เรารักกัน เราเที่ยวด้วยกัน ซึ่งมาตรการบรรเทาและกระตุ้นเศณษฐกิจในปีนี้จะยังคงมีต่อเนื่อง หวังว่าประชาชนจะมีส่วนช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยได้มากขึ้น เมื่อสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลงก็เป็นโอกาสดีที่คนไทยจะสามารถช่วยกันประคับประคองเศรษฐกิจด้วยการออกมาจับจ่ายใช้สอย ท่องเที่ยวในประเทศมากขึ้น ขณะเดียวกันก็วางรากฐานการพัฒนาด้านสังคม สร้างรายได้ เร่งรัดการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อกระจายความเจริญ ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ขยายโอกาสและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน รวมทั้งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศเน้นการลงทุนด้านคมนาคม สาธารณูปการ และการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม โดยมีภาครัฐนับเป็นตัวจักรสำคัญในการขับเคลื่อน ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนจะช่วยให้เศรษฐกิจไทยเติบโตตามเป้าหมาย โดยเฉพาะในสาขาที่จำเป็นสำหรับการยกระดับศักยภาพทางเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ยังระบุด้วย่วา รัฐบาลได้เร่งแก้ไขความเดือดร้อนให้กับทุกภาคส่วน โดยเฉพาะกลุ่มประชาชนเศรษฐกิจฐานรากควบคู่กับการฟื้นฟูเศรษฐกิจ สร้างโอกาสและยกระดับคุณภาพชีวิตให้แก่คนรุ่นใหม่และผู้สูงอายุโดยให้ความสำคัญกับบ้านพักอาศัย ลดความเหลื่อมล้ำ โดยมอบการเคหะแห่งชาติ (กคช.) และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ร่วมกันดำเนินโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยตามแนวเส้นทาง รถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ และปริมณฑล เพื่อเชื่อมโยงที่อยู่อาศัยเข้ากับแหล่งงานให้กับคนรุ่นใหม่วัยทำงาน

สำหรับทิศทางนโยบายวัคซีนโควิด-19 โดยนายกรัฐมนตรีชื่นชมทีมบุคลากรทางการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข อสม. เจ้าหน้าที่ และคนไทยทุกคน ที่ยังช่วยกันเป็นอย่างดี พร้อมเน้นย้ำว่าห้ามการ์ดตก รวมถึงจำเป็นต้องกระจายวัคซีนให้มากและเร็วขึ้น รัฐบาลให้ความสำคัญนโยบายการฉีดวัคซีนเท่าๆ กับนโยบายเศรษฐกิจ สำหรับการเปิดประเทศ รัฐบาลได้ปรับนโยบายการกักตัว เพื่อเร่งการฟื้นตัวการท่องเที่ยวจากต่างประเทศ ซึ่งตั้งแต่ต้นปี 2564 ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ได้ประกาศโครงการให้นักท่องเที่ยวใช้ช่วงเวลากักตัวที่สนามกอล์ฟ เรือยอชต์ ส่วนระยะต่อไป กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา จะเสนอแผนให้ชาวต่างชาติเข้ารับการกักตัวในจังหวัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยม รวมถึง ภูเก็ต กระบี่ และเชียงใหม่ คาดว่าจะเริ่มขึ้นในไตรมาส 2 ของปีนี้  

“เทศกาลสงกรานต์ในเดือน เม.ย. รัฐบาลจำเป็นต้องคำนึงถึงความปลอดภัย ความร่วมมือของประชาชน ผู้ประกอบการ และภาครัฐเป็นสำคัญ นอกจากนี้ รัฐบาลมีแนวโน้มจะเปิดประเทศแบบเต็มรูปแบบกับประเทศที่ปฏิบัติตามกฎกติกาขององค์การอนามัยโลก และสมาคมขนส่งทางอาการระหว่างประเทศ ซึ่งอยู่ระหว่างการประเมินกระจายวัคซีน เพื่อกำหนดแนงทางการเปิดประเทศและสถานการณ์การบิน เมื่อวัคซีนมีมากพอ การท่องเที่ยวของไทยและต่างชาติจะกลับมาดีขึ้นในปี 2565 และจะติดตามสถานการณ์ แนวโน้มเศรษฐกิจคู่ขนานกับการฉีดวัคซีนที่เพิ่มขึ้น”

อย่างไรก็ตาม ในช่วงท้ายนายกรัฐมนตรีย้ำว่ารัฐบาลมุ่งมั่นที่จะฉีดวัคซีนให้คนไทยฟรี เพราะเป็นหน้าที่ที่รัฐบาลต้องดำเนินการ และสิ่งที่พยายามจะขับเคลื่อนในปีนี้ ทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งแผนการฉีดวัคซีนที่มีความชัดเจน เชื่อมั่นว่าจะเป็นแรงส่งสำคัญให้เศรษฐกิจสามารถขยายตัวได้ตามเป้าหมายที่ร้อยละ 4 ถือเป็นเป้าหมายที่ท้าทาย ทุกคนต้องช่วยกัน เดินหน้าฟันฝ่าร่วมมือเพื่อเอาชนะความท้าทายของประเทศ และกลับมาสู่ช่วงก่อนโควิด-19 ได้ในปี 2565 หรือเร็ววันนี้ พร้อมอวยพรขอให้ทุกคนมีความสุข

แสดงความคิดเห็น

0 ความคิดเห็น