ค้นหาบล็อกนี้

รีเดมระดมนัด 20 มีนาคม อ้างกระแสโยงล้มแก้ร่าง รธน. โฆษกยุติธรรม โต้ “อานนท์”

 

รีเดมระดมนัด 20 มีนาคม อ้างกระแสโยงล้มแก้ร่าง รธน. โฆษกยุติธรรม โต้ “อานนท์”

โฆษกยุติธรรมแจงไทม์ไลน์ละเอียดยิบ ชี้เหตุดำเนินการรับตัวล่าช้าจนดึก เพราะ “อานนท์” กับพวกไม่ยอมตรวจเชื้อโควิด-19 ยันปฏิบัติงานถูกต้องมีมนุษยธรรม มีกล้องบันทึกภาพและเสียงระหว่างการปฏิบัติงานเป็นหลักฐาน พร้อมส่งเป็นหลักฐานการไต่สวนให้ศาล “อานนท์” ไม่หยุดโพสต์เฟซบุ๊กส่งข้อความจากคุกสั่งเสีย ถ้าตายให้เอาศพใส่โลงไปวางหน้าศาลอาญา ขณะรีเดมปั่นกระแสสภาล้มแก้ รธน.ปลุกม็อบ

กรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินคดีและจับกุมกลุ่มม็อบที่ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองหลายกลุ่ม ส่วนใหญ่เป็นข้อหาตามมาตรา 112 มาตรา 116 และความผิดอื่น แกนนำส่วนใหญ่ไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว ถูกส่งตัวเข้าเรือนจำ ต่อมานายอานนท์ นำภา เขียนจดหมายร้องเรียนหวั่นเรื่องความปลอดภัยในคุก ทำให้ศาลสั่งไต่สวนผู้เกี่ยวข้องตามที่เสนอข่าวไปแล้ว

ความคืบหน้าจากกระทรวงยุติธรรม เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 18 มี.ค. นายวัลลภ นาคบัว รองปลัดกระทรวงยุติธรรมและโฆษกกระทรวงยุติธรรม กล่าวถึงกรณีนายอานนท์ นำภา แกนนำกลุ่มราษฎร ร้องเรียนการปฏิบัติหน้าที่ไม่เหมาะสมของเจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์ยามวิกาลว่า จากข้อมูลที่ได้รับรายงาน นายอานนท์และพวกรวม 4 คนเดินทางจากศาลพร้อมผู้ต้องขังที่ไม่ใช่คดีการเมืองอีก 9 คนถึงเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครเวลาประมาณ 17.10 น. จากนั้นเวลา 18.46 น. รับย้ายตัวนายภาณุพงศ์ จาดนอก หรือไมค์ นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือไผ่ ดาวดิน แกนนำราษฎร และนายปิยรัฐ จงเทพ หรือโตโต้ แกนนำกลุ่มวีโว่มาจากเรือนจำพิเศษธนบุรี มาจำแนกทำประวัติและทำทะเบียนแรกรับ นำตัวมาห้องกักโรคแรกรับพร้อมผู้ต้องขังคนอื่นที่รับมาวันเดียวกันรวมทั้งหมด 16 คน

“เนื่องจาก ศบค.ประกาศให้พื้นที่เขตบางแคเป็นพื้นที่สีแดง จำเป็นต้องเจรจาเพื่อให้ทั้ง 3 แยกกักโรคต่างหากแม้ในเรือนจำจะมีห้องกักโรค แต่มีผู้ต้องขังเข้าใหม่ทุกวันจากพื้นที่เสี่ยงฝั่งธนบุรี เขตบางแคและรอบๆ ทั้งมีการเคลื่อนย้ายขึ้นรถและสัมผัสเจ้าหน้าที่ ประกอบกับทั้ง 3 คนกักโรคที่เรือนจำพิเศษธนบุรีเพียง 7 วัน ยังไม่ครบ 14 วันอาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อ แต่ทั้ง 3 คนไม่ยอมและขออยู่รวมกับนายอานนท์ เจ้าหน้าที่พิจารณาเพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อยและไม่เกิดความวุ่นวายต่อต้านจนควบคุมไม่ได้ เป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ขอความร่วมมือตรวจร่างกายเพื่อคัดกรองไวรัสโควิด-19 ทุกคน ตามมาตรการป้องกัน แต่มีคนยินยอมให้ตรวจเพียง 9 คนไม่ใช่กลุ่มผู้ต้องขังคดีการเมือง ส่วนนายอานนท์และพวกรวม 7 คนที่เป็นผู้ต้องขังคดีการเมืองไม่ยินยอม ทำให้แพทย์พยาบาลและสหวิชาชีพ รพ.ราชทัณฑ์ ต้องตรวจผู้ต้องขัง 9 คนก่อน เริ่มตรวจเวลาประมาณ 23.00 น.เศษ พร้อมพยายามเจรจากับทั้ง 7 คนอีกครั้ง แต่ไม่เป็นผลจนเวลาเที่ยงคืนกว่า” โฆษกกระทรวงยุติธรรมกล่าว

นายวัลลภกล่าวต่อว่า จากนั้นจึงจำเป็นต้องเตรียมห้องใหม่เพื่อย้ายทั้ง 9 คนที่ตรวจโรคแล้วไปกักโรคเพื่อสังเกตอาการตามมาตรการ กระบวนการทั้งหมดเสร็จสิ้นประมาณตี 2 เศษ เจ้าหน้าที่ที่เข้ามาเคลื่อนย้ายส่วนหนึ่งคือ เจ้าหน้าที่ที่เข้าเวร และอีกส่วนเป็นชุดปฏิบัติการพิเศษที่มาร่วมเคลื่อนย้ายผู้ต้องขัง 2 นาย เพื่อความปลอดภัย เครื่องแบบชุดปฏิบัติการพิเศษไม่ได้กำหนดให้ติดป้ายชื่อ ยกเว้นหัวหน้าชุดและมีกระบองพกอยู่แล้วในเครื่องแบบ เพราะการเคลื่อนย้ายผู้ต้องขังมีความเสี่ยงต้องพกเผื่อเหตุฉุกเฉินตามระเบียบกรมราชทัณฑ์ ไม่ได้เป็นการกระทำที่นอกเหนือกฎระเบียบกำหนด ตนฐานะประธานกรรมการประมวลข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าว จะเร่งสืบสวนหาหลักฐานข้อเท็จจริงอย่างตรงไปตรงมา ให้ความเป็นธรรมทุกฝ่าย และรีบชี้แจงต่อสาธารณชนโดยเร็ว

นายวัลลภเผยด้วยว่า กระบวนการทั้งหมดที่ล่าช้า เพราะทั้งนายอานนท์และเพื่อนๆรวม 7 คนไม่ยอมตรวจหาเชื้อ เจ้าหน้าที่และทีมแพทย์พยาบาลต้องช่วยเจรจาเสียเวลาอยู่นานหลายชั่งโมง เจ้าหน้าที่ที่ตรวจก็เป็นผู้หญิง เราไม่อยากให้กินเวลามากเพราะยิ่งดึกจะปฏิบัติหน้าที่ยากลำบาก แต่เมื่อการเจรจาหลายครั้งไม่สำเร็จ ทำให้กระบวนการทุกอย่างกินเวลาหลายชั่วโมงจนดึกกลายเป็นประเด็นดังกล่าว เราต้องแยกผู้ให้ความร่วมมือไปกักโรคอีกห้องต่างหาก หากพบการติดเชื้อโควิด-19 ต้องย้ายไปรักษาตัวยังโรงพยาบาล การตรวจโควิดปล่อยปละละเลยไม่ได้ หากผู้ต้องขังคนอื่นรู้ว่าเราไม่ได้ตรวจคัดกรอง ภายหลังเกิดการแพร่ระบาดในเรือนจำอาจเกิดจลาจลร้ายแรงเหมือนต่างประเทศ เราไม่สามารถเอาผู้ต้องขัง 3,000 กว่าคนที่ผ่านกักโรคแล้วมาเสี่ยงได้ เรามีบันทึกวิดีโอทั้งภาพและเสียงช่วงปฏิบัติงานเคลื่อนย้าย เราไม่ได้ทำร้าย ทำตามหลักสิทธิมนุษยชน เพียงแค่นำตัวผู้ต้องขังออกไปห้องกักโรคอีกห้องเท่านั้น หากศาลเรียกข้อมูลเราพร้อมส่งให้ประกอบการไต่สวน

ด้านความเคลื่อนไหวในสื่อสังคมออนไลน์ เฟซบุ๊กเพจอานนท์ นำภา มีการโพสต์ข้อความใจความสำคัญตอนหนึ่งว่า “ข้อความฝากจากเรือนจำ 18 มี.ค.64 วันนี้ผมยังไม่ตาย แต่ไม่สำคัญเท่ากับการอยู่อย่างมีประโยชน์หรือตายอย่างมีคุณค่า ถ้าการอยู่ในเรือนจำแล้วทำให้เห็นถึงความอัปลักษณ์ของกระบวนการยุติธรรมไทย ผมก็ยินดี ถ้าผมตายไป ศพของผมให้นำใส่โลงศพไม่ต้องห่อด้วยถุงพลาสติก ไปวางไว้หน้าศาลอาญาบนถนนรัชดาภิเษก เมื่อเลือดและน้ำหนองของผมไหลออกมาก็ปล่อยให้มันเจิ่งนองบนถนนรัชดาฯรอให้รถของคนที่มีส่วนทำให้ผมตายวิ่งมาเหยียบมันและกลับไปที่บ้าน วิญญาณของผมจะทอดร่างอยู่ใต้โต๊ะทำงานของพวกเขาเหล่านั้น

ขณะที่ม็อบรีเดม (REDEM) ใช้เทเลแกรมเป็นกระบอกเสียง มีการนำเหตุรัฐสภาโหวตคว่ำแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระสาม เมื่อคืนวันที่ 17 มี.ค. มาปลุกเร้ามวลชนด้วยการโพสต์ว่า ด่วน! สภาคว่ำร่าง รธน. คือการปิดตายทางออกของประเทศผ่านช่องทางสภา และกระทำเยี่ยงกบฏต่อประชาชน การคว่ำครั้งนี้เป็นที่ประจักษ์ชัดแล้วว่า ส.ว.คือผู้เป็นปฏิปักษ์ ต่อการนำพาประเทศให้พ้นวิกฤติ แล้วใครแต่งตั้ง ส.ว.หรือ? หากมิใช่คณะรัฐประหารที่...เซ็นรับรอง 20 มี.ค. มวลชน REDEM นัดหมายไปสนามราษฎร เพื่อส่งจดหมายถึงคนสั่งล้มรัฐธรรมนูญโดยตรง

แสดงความคิดเห็น

0 ความคิดเห็น