การประกาศดังกล่าวจะเกิดขึ้นหลังประธานาธิบดีไบเดนเชิญผู้นำชาติต่างๆ รวม 40 ประเทศ เข้าร่วมการประชุมออนไลน์เพื่อแก้ไขวิกฤตโลกร้อนซึ่งถือเป็นการประชุมระดับผู้นำครั้งแรกของสหรัฐฯ ในประเด็นดังกล่าว
หลังสหรัฐฯ เพิ่งกลับเข้าร่วมข้อตกลงปารีส เนื่องจากถอนตัวไปในสมัยของอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่เชื่อว่าปัญหาโลกร้อน เป็นเรื่องหลอกลวงเพื่อทำลายเศรษฐกิจสหรัฐฯ
เอกสารระบุว่า สหรัฐฯ จะดำเนินการลดปริมาณก๊าซโลกร้อนที่มาจากการใช้พลังงานฟอสซิลลงร้อยละ 52 ภายในปี 2573 ขณะที่ทางการญี่ปุ่น หนึ่งในผู้ร่วมประชุมประกาศว่าจะลดปริมาณก๊าซโลกร้อนจากพลังงานฟอสซิลลงให้ได้ร้อยละ 46
ความเคลื่อนไหวดังกล่าวเกิดขึ้นหลังนักวิทยาศาสตร์พบว่า ภาวะโลกร้อนที่มีสาเหตุมาจากโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าจากถ่านหิน ไอเสียจากเครื่องยนตร์สันดาป และพลังงานฟอสซิลอื่นๆ อย่างน้ำมัน กำลังส่งผลให้สถานการณ์แห้งแล้ง อุทกภัย วาตภัย และไฟป่า ทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยมนุษยชาติเหลือเวลาอีกไม่มากแล้วในการแก้ไขปัญหา ก่อนที่จะความเสียหายจะเกิดขึ้นอย่างถาวร
แถลงการณ์ระบุว่า “ทางการสหรัฐฯ จะไม่ยอมรออีกต่อไป เพราะความเสียหายจากการล่าช้านั้นมหาศาลมาก ชาติของเราจะเริ่มดำเนินการเดี๋ยวนี้” และว่า “การเปลี่ยนของสภาพภูมิอากาศนั้นเป็นภัยคุกคามต่อชาติพันธุ์ของมนุษย์ การจัดการกับปัญหานี้นับเป็นโอกาสในการสร้างงาน งานที่สร้างผลตอบแทนสูง ซึ่งจะทำให้แรงงานชาวอเมริกันแข็งแกร่งขึ้น ช่วยปกป้องระบบสาธารณสุขของเรา และคืนความยุติธรรมให้กับธรรมชาติ”
รายงานระบุว่า ทางการสหรัฐฯ อาจเผชิญกับความยากลำบากในการชักชวนชาติอื่นๆ ให้กันมาแก้ไขปัญหาโลกร้อนอย่างจริงจัง โดยเฉพาะกับจีน ซึ่งทั้งสองชาติกำลังมีความขัดแย้งกันในหลายมิติ ซึ่งทั้งสหรัฐฯ และจีนนั้นเป็นชาติที่ปลดปล่อยก๊าซโลกร้อนมากที่สุดในโลก
ถัดมาเป็นอินเดีย ในฐานะผู้ปลดปล่อยก๊าซโลกร้อนอันดับสาม ซึ่งมีจุดยืนเรียกร้องให้ชาติมหาอำนาจสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีมาใช้พลังงานสะอาดในชาติกำลังพัฒนา โดยเฉพาะเงินสนับสนุนที่ชาติมหาอำนาจเคยให้สัญญาไว้ในข้อตกลงปารีส
ด้านรัสเซีย ชาติผู้ปลดปล่อยก๊าซโลกร้อนอันดับสี่ของโลก กำลังมีความสัมพันธ์ตึงเครียดกับสหรัฐฯ เช่นกันจากปัญหาสิทธิมนุษยชน การโจมตีไซเบอร์ และการแทรกแซงการเลือกตั้งผู้นำสหรัฐน ขณะที่ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ผู้นำรัสเซียนั้นกำลังไม่พอใจผู้นำสหรัฐฯ ที่เคยให้สัมภาษณ์กับสื่อโดยเรียกตนว่า “ฆาตกร”
สำหรับประเทศที่ได้รับเชิญเข้าร่วม 40 ชาติ ได้แก่ บาร์บูดา อาร์เจนตินา ออสเตรเลีย บังกลาเทศ ภูฏาน บราซิล แคนาดา ชิลี จีน โคลอมเบีย คองโก เดนมาร์ก ฝรั่งเศส กาบอง เยอรมนี อินเดีย อินโดนีเซีย อิสราเอล อิตาลี จาไมกา ญี่ปุ่น เคนยา หมู่เกาะมาร์แชล เม็กซิโก นิวซีแลนด์ ไนจีเรีย
นอร์เวย์ เกาหลีใต้ รัสเซีย ซาอุดีอาระเบีย สิงคโปร์ แอฟริกาใต้ สเปน ตุรกี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สหราชอาณาจักร และเวียดนาม รวมถึงสหภาพยุโรป หรืออียู ที่ได้รับเชิญทั้งประธานคณะกรรมาธิการ และประธานคณะมนตรีอียู
0 ความคิดเห็น